|
||||
อุปกรณ์ดมกลิ่นสำหรับอาหารเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์และเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงพัฒนาในงานวิจัยในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้หลักการการตรวจวัดการตอบสนองของก๊าซเซ็นเซอร์อาร์เรย์เชิงไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ซับซ้อนในการตรวจวัด นอกจากนี้ก๊าซเซ็นเซอร์เชิงไฟฟ้าอย่างเช่น ก๊าซเซ็นเซอร์ที่ผลิตจากโลหะออกไซด์และก๊าซเซ็นเซอร์ชนิดพอลิเมอร์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีใช้อย่างกว้างขวางในเชิงพาณิชย์ โดยจำนวนของเซ็นเซอร์ในอาร์เรย์จะหมายถึงจำนวนชุดของข้อมูลกลิ่นด้วย ในงานวิจัยที่มีการพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์โดยอาศัยการตรวจวัดเชิงแสงนั้นมีความซับซ้อนมากกว่า เนื่องด้วยผลจากการตรวจวัดคุณสมบัติเชิงแสงของเซ็นเซอร์จะต้องถูกเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของสัญญาณทางไฟฟ้าก่อนที่จะสามารถนำไปประมวลผลเช่นเดียวกับเซ็นเซอร์เชิงไฟฟ้า คุณสมบัติการตอบสนองต่อการดูดกลืนของแสงในช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกันสามารถทำให้เซ็นเซอร์เชิงแสงเพียงหนึ่งตัวสามารถให้ข้อมูลกลิ่นได้หลายชุดข้อมูล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแบ่งช่วงของสเปคตรัมที่กำลังพิจารณา แสดงถึงข้อดีของเซ็นเซอร์เชิงแสงที่เหนือกว่าเซ็นเซอร์เชิงไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามเซ็นเซอร์เชิงไฟฟ้ามีการถูกพัฒนาที่หลายหลายและมีการพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์เชิงพาณิชย์แล้วจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องด้วยค่าการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้า เช่นค่าความต้านทานไฟฟ้าหรือค่าการนำไฟฟ้า มีความไวต่อการตอบสนองต่อไอระเหยเคมีที่ความเข้มข้นต่ำในระดับหนึ่งในล้านส่วน (parts-per million, ppm) และสามารถพัฒนาให้มีสมบัติเลือกตอบสนองได้ (selectivity) |
||||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิดา หล่อวงศ์ตระกูล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าปัจจุบันพบยังไม่พบจมูกอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ที่ใช้หลักการลูกผสมของการตรวจวัดเชิงไฟฟ้าและเชิงแสง พบเพียงรายงานการวิจัยที่เสนอแนวความคิดในการนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์เชิงแสงและเชิงไฟฟ้ามาร่วมประมวลวิเคราะห์กลิ่นไอระเหยเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถแยกความแตกต่างของไอระเหยเคมีต่างๆ ด้วยหลักการของจมูกอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี จากแนวความคิดดังกล่าว จึงคิดประดิษฐ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์ลูกผสมต้นแบบที่อาศัยหลักการการตรวจวัดกลิ่นเชิงไฟฟ้าและเชิงแสงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการในการวิเคราะห์คุณภาพกลิ่น จากการทดลองและเก็บข้อมูลของไอระเหยต่างๆ พบว่า ชุดของเซ็นเซอร์นี้ เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้กับอาหารจำพวก ข้าวและโปรตีน รวมถึงเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ นอกจากการนำเอาเครื่องต้นแบบนี้ไปประยุกต์ในการดมกลิ่นอาหารและเครื่องดื่มแล้วนั้น โครงสร้างของเครื่องต้นแบบนี้ยังมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนางานวิจัยด้านการพัฒนาเซ็นเซอร์ ซึ่งหน่วยรับกลิ่นที่ได้ออกแบบไว้นั้นสามารถพัฒนาและปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับการดมกลิ่นที่แตกต่างกันได้ในอนาคต จมูกอิเล็กทรอนิกส์ลูกผสมต้นแบบที่อาศัยหลักการการตรวจวัดกลิ่นเชิงไฟฟ้าและเชิงแสง อยู่ในระหว่างขั้นตอนการจดทรัพย์สินทางปัญญา ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : นักวิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิดา หล่อวงศ์ตระกูล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ E mail : dang_phy@hotmail.com สถาบันวิจัยและพัฒนา งานบริหารงานวิจัย Tel.035-709097 |
||||